นายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิจิตร (ผคป.พิจิตร) เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ จ.พิจิตร แม้ว่าจะยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็พบว่าทั้ง 12 อำเภอ เริ่มมีบางจุดขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว แต่จะเป็นในรูปแบบที่กระจายตัวทั่วทั้งจังหวัด หนักสุดใน อ.สามง่าม
สาเหตุมาจากเกษตรกรลงมือเพาะปลูกล่าช้า เพราะก่อนหน้านี้ประสบปัญหาเรื่อง ศัตรูพืช (แมลงบั่ว) บุกกัดกินทำลายข้าวในนาได้รับความเสียหาย จึงต้องทำการไถกลบปรับพื้นที่ใหม่ ประกอบกับแหล่งน้ำสำรองที่มี ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์จำกัด ไม่สามารถส่งให้เกษตรกรเพื่อทำการเพาะปลูกได้อย่างทั่วถึง แต่ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค ยืนยันว่ามีเพียงพออย่างแน่นอน
สำหรับ จ.พิจิตร เป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศแบบที่ลุ่ม ทำให้เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก (ปลาย ก.ค. – ส.ค.) น้ำจากแม่น้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะ แม่น้ำยม จะไหลหลากเข้าท่วมนาข้าว ทำให้ได้รับความเสียหาย โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกนั้นคือปลายเดือน พ.ค. เนื่องจาก เป็นระยะเวลาที่ใกล้เข้าสู่ฤดูฝน เมื่อลงมือเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนถึงช่วงฤดูน้ำหลาก
เบื้องต้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวนาให้ชะลอการทำนาปรังออกไปก่อน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงที่ข้าวกำลังต้องการ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีแหล่งน้ำสำรอง ก็จะทำให้ต้นข้าวแห้งเหี่ยวเฉาตายได้
0 comments:
Post a Comment